การกำหนดขอบเขตของปัญหา
การวิจัยทุกเรื่องจะต้องมีขอบเขตของการศึกษา เพื่อให้ทราบว่าการวิจัยที่จะศึกษามีขอบข่ายกว้างขวางเพียงใด เนื่องผู้วิจัยไม่สามารถทำการวิจัยได้ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุมของปัญหานั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ปัญหาที่จะทำการวิจัยแน่นอนแล้ว ผู้วิจัยจะต้องกำหนดขอบเขตของการศึกษาให้ชัดเจนว่าจะครอบคลุมอะไรบ้าง โดยการกำหนดขอบเขตของเรื่องให้แคบลงเฉพาะตอนใดตอนหนึ่งของปัญหาการวิจัยว่าจะศึกษาในเรื่องใด ศึกษากับใคร และศึกษาแง่มุมใด ทั้งนี้เพื่อตีกรอบความคิดของผู้วิจัยและผู้อ่านให้อยู่ในวงที่จำกัดไว้
การกำหนดขอบเขตของการวิจัยนั้น ตามปกติจะกำหนดในเรื่องของประชากร กลุ่มตัวอย่าง และตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย เช่น สถานที่วิจัย หรือระยะเวลา
การเขียนขอบเขตของการวิจัย ผู้วิจัยอาจจะเขียนเป็นข้อความรวม ๆ หรือเขียนเป็นประโยคย่อย ๆ แยกหัวข้อกลุ่มตัวอย่างและตัวแปรก็ได้ ซึ่งวิธีนี้เป็นที่นิยมกันมาก (วัดผลจุดคอม. 2553 : , คณะกรรมการฝึกอบรมและสอบความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย)
ตัวอย่าง การเขียนขอบเขตของการวิจัย แบบเขียนเป็นข้อความรวม ๆ หรือเขียนเป็นประโยคย่อย ๆ เช่น
ตัวอย่างที่ 1 งานวิจัยเรื่อง “ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้บริการร้านค้าปลีกแบบซุปเปอร์มาร์เก็ตของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร” กำหนดขอบเขตการวิจัยดังนี้
การวิจัยในครั้งนี้กลุ่มของประชากร คือ ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 5,645,834 คน โดยจะทำการเลือกกลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 625 ตัวอย่าง ซึ่งลักษณะของกลุ่มตัวอย่างคือ ผู้บริโภคเพศชายหรือหญิง อายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป โดยต้องเป็นผู้ที่กำลังซื้อสินค้าหรืออยู่ในบริเวณของร้านค้าปลีกแบบซุปเปอร์มาร์เก็ต ระยะเวลาทำการวิจัยตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 30 มิถุนายน 2543 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 151 วัน
ตัวอย่างการเขียนขอบเขตการวิจัยแบบแยกหัวข้อกลุ่ม ตัวอย่างและตัวแปร
ตัวอย่างที่ 1 การวิจัยเรื่อง “การศึกษาความมีน้ำใจของครู ความอยากรู้อยากเห็น ความเอื้อเฟื้อ และเพทุบาย ของนักศึกษาปีที่ 1 – 4 วิทยาลัยครูนครปฐม” ได้จำกัดขอบเขตของกลุ่มตัวอย่างและตัวแปรไว้ดังนี้ (นิภา บุณยศรีสวัสดิ์. 2517.)
1. กลุ่มตัวอย่าง ในการศึกษาครั้งนี้กระทำกับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 – 4 ปีการศึกษา 2516 วิทยาลัยครูนครปฐม จำนวน 400 คน เป็นชาย 206 คน หญิง 194 คน และเนื่องจากการรับนักศึกษาเข้าเรียนในระดับชั้นปีที่ 1 มีจำนวนใกล้เคียงกันทุกปี ฉะนั้น นักศึกษาในปีที่ 1 – 4 จึงมีจำนวนใกล้เคียงกัน การสุ่มตัวอย่างจึงสุ่มมาระดับละ 100 คน เท่านั้น
2. ตัวแปรที่ศึกษา
2.1 ตอนหาความสัมพันธ์ มีตัวแปร 4 ตัว คือ
– ความมีน้ำใจของครู
– ความอยากรู้อยากเห็น
– ความเอื้อเฟื้อ
– ความมีเพทุบาย
2.2 ตอนเปรียบเทียบ
ตัวแปรอิสระ
– เพศ (ชาย – หญิง)
– ระดับชั้นเรียน
ตัวแปรตาม
– ความมีน้ำใจของครู
– ความอยากรู้อยากเห็น
– ความเอื้อเฟื้อ
– เพทุบาย
ตัวอย่างที่ 2 วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาการนำเสนอภาพยนตร์โฆษณาโทรทัศน์ของผู้กำกับ สุธน เพ็ชรสุวรรณ” มีขอบเขตการศึกษาดังนี้ (เขมพัทธ์ พัชรวิชญ์. 2548)
- การศึกษาครั้งนี้จะเป็นการศึกษากรณีด้านแนวคิดในการนำเสนอในภาพยนตร์โฆษณาที่กำกับโดยนายสุธน เพ็ชรสุวรรณ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ในประเทศไทยเท่านั้น ระหว่างปี พ.ศ. 2536 – พ.ศ. 2547 รวมระยะเวลา 11 ปี
- ภาพยนตร์โฆษณาที่คัดเลือกในการศึกษานี้ จะคัดเลือกจากภาพยนตร์โฆษณาที่ได้รับรางวัลในงานการประกวดโฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย (Top Advertising Contest of Thailand Awards) งานประกวดโฆษณาภาคพื้นเอเชีย (Asia Pacific Advertising Festival) และงานเทศการประกวดโฆษณานานาชาติ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส (Cannes Lions International Advertising) เท่านั้น
การกำหนดขอบเขตของปัญหาที่ชัดเจนและแน่นอน จะช่วยผู้วิจัยได้ดังนี้ (อรุณศรี เตชะเรืองรอง, กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์)
1) วางแผนรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสม
2) รู้ถึงเทคนิคต่างๆ ที่เหมาะสมในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนการแปลผลการวิจัย
3) มองเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น