วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การแก้ปัญหาคอมพิวเตอร์

 คอมพิวเตอร์กับการแก้ปัญหา 

         การทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ จะทำตามโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาทุกประการ ดังนั้นการนำเครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยสำหรับการแก้ปัญหา จึงต้องมีโปรแกรมสำหรับการแก้ปัญหานั้น เพื่อสั่งการให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามต้องการ ผู้ที่ทำการเขียนโปรแกรมจึงต้องทราบถึงวิธีการของการแก้ปัญหาที่ต้องการแก้ไขทุกขั้นตอน จากนั้นจึงทำการเรียบเรียงลำดับขั้นตอนวิธีการทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย แล้วนำขั้นตอนวิธีที่ได้เรียบเรียงขึ้นมาเขียนเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่อไป
การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้มีการเตรียมการไว้ก่อน โดยทำการเขียนโปรแกรมตามความคิดในขณะนั้น ไม่ได้มีการวางแผนหรือการจดบันทึกขั้นตอนวิธีการทำงานของโปรแกรมที่เขียนขึ้นสำหรับเป็นเอกสารอ้างอิง เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เสียเวลาในการเขียนโปรแกรมเพิ่มมากขึ้น
หากต้องการปรับปรุงพัฒนาการทำงานของโปรแกรมในภายหลัง จะมีความยุ่งยาก ต้องใช้เวลาสำหรับการทำความเข้าใจกับขั้นตอนวิธีการทำงานของโปรแกรม ถ้าโปรแกรมไม่มีความซับซ้อนมากนัก เวลาที่ใช้สำหรับการศึกษาถึงวิธีขั้นตอนวิธีการในการแก้ปัญหาจะใช้เวลาไม่มาก แต่ถ้าโปรแกรมนั้นมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น การศึกษาถึงขั้นตอนวิธีการในการทำงาน จะยิ่งใช้เวลาเพิ่มมากขึ้น การเขียนเอกสารประกอบการทำงานของโปรแกรม ทำให้การปรับปรุงพัฒนาการทำงานของโปรแกรมในภายหลัง สามารถทำได้สะดวกยิ่งขึ้น

    
กระบวนการในการแก้ปัญหา  ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอน ดังนี้

 

 1. การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา

          การวิเคราะห์และกำหนดรายละเอียดของปัญหา (State the problem) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนแรกสุดก่อนที่จะลงมือแก้ปัญหา แต่ผู้แก้ปัญหามักจะมองข้ามความสำคัญของขั้นตอนนี้อยู่เสมอ จุดประสงค์ของขั้นตอนนี้ คือการทำความเข้าใจกับปัญหาเพื่อแยกให้ออกว่าข้อมูลที่กำหนดมาในปัญหาหรือเงื่อนไขของปัญหาคืออะไร และสิ่งที่ต้องการคืออะไร อีกทั้งวิธีการที่ใช้ประมวลผล ในการวิเคราะห์ปัญหาใด กล่าวโดยสรุปมีองค์ประกอบในการวิเคราะห์ ดังนี้

1.1  การระบุข้อมูลเข้า  ได้แก่ การพิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่กำหนดมาในปัญหา

1.2  การระบุข้อมูลออก  ได้แก่ การพิจารณาเป้าหมายหรือสิ่งที่ต้องหาคำตอบ

1.3  การกำหนดวิธีประมวลผล  ได้แก่ การพิจารณาขั้นตอนวิธีหาคำตอบหรือข้อมูลออก


  2. การเลือกเครื่องมือและออกแบบขั้นตอนวิธี

              การเลือกเครื่องมือและออกแบบขั้นตอนวิธี (Tools and Algorithm development) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการวางแผนในการแก้ปัญหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน หลังจากที่เราทำความเข้าใจกับปัญหา พิจารณาข้อมูลและเงื่อนไขที่มีอยู่ และสิ่งที่ต้องการหาในขั้นตอนที่ แล้ว เราสามารถคาดคะเนวิธีการที่จะใช้ในการแก้ปัญหา ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้แก้ปัญหาเป็นหลัก หากผู้แก้ปัญหาเคยพบกับปัญหาทำนองนี้มาแล้วก็สามารถดำเนินการตามแนวทางที่เคยปฏิบัติมา

              ขั้นตอนนี้จะเริ่มจากการเลือกเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหา โดยพิจารณาความเหมาะสมระหว่างเครื่องมือกับเงื่อนไขต่างๆ ของปัญหาซึ่งหมายรวมถึงความสามารถของเครื่องมือในการแก้ปัญหาดังกล่าว และสิ่งที่สำคัญคือความคุ้นเคยในการใช้งานเครื่องมือนั้นๆ ของผู้แก้ปัญหา

              อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหา คือยุทธวิธีที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือที่เราเรียกว่า 

ขั้นตอนวิธี (algorithm) ในการแก้ปัญหา  หลังจากที่เราได้เครื่องมือช่วยแก้ปัญหาแล้ว ผู้แก้ปัญหาต้องวางแผนว่าจะใช้เครื่องมือดังกล่าวเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและดีที่สุด การออกแบบขั้นตอนวิธีในการแก้ปัญหา ผู้แก้ปัญหาควรใช้แผนภาพหรือเครื่องมือในการแสดงขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใน เช่น ผังงาน (flowchart) ที่จำลองขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาในรูปของสัญลักษณ์  รหัสลำลอง (pseudo code) ซึ่งเป็นการจำลองขั้นตอนวิธีการแก้ปัญหาในรูปของคำบรรยาย การใช้เครื่องมือช่วยออกแบบดังกล่าวนอกจากแสดงกระบวนการที่ชัดเจนแล้ว ยังช่วยให้ผู้แก้ปัญหาสามารถหาข้อผิดพลาดของวิธีการที่ใช้ได้ง่ายและแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว

 

  3. การดำเนินการแก้ปัญหา

              การดำเนินการแก้ปัญหา (Implementation) หลังจากที่ได้ออกแบบขั้นตอนวิธีเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องลงมือแก้ปัญหาโดยใช้เครื่องมือที่ได้เลือกไว้ หากการแก้ปัญหาดังกล่าวใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยง่าน ขั้นตอนนี้ก็เป็นการใช้โปรแกรมสำเร็จหรือใช้ภาษาคอมพิวเตอร์เขียนโปรแกรมแก้ปัญหา ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่เลือกใช้ซึ่งผู้แก้ปัญหาต้องศึกษาให้เข้าใจและเชี่ยวชาญ ในขณะที่ดำเนินการหากพบแนวทางที่ดีกว่าที่ออกแบบไว้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้

 

  4. การตรวจสอบและปรับปรุง

              การตรวจสอบและปรับปรุง (Refinement) หลังจากที่ลงมือแก้ปัญหาแล้ว ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าวิธีการนี้ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง โดยผู้แก้ปัญหาต้องตรวจสอบว่าขั้นตอนวิธีที่สร้างขึ้นสอดคล้องกับรายละเอียดของปัญหา ซึ่งได้แก่ ข้อมูลเข้า และข้อมูลออก เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรองรับข้อมุเข้าได้ในทุกกรณีอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงวิธีการเพื่อให้การแก้ปัญหานี้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

              ขั้นตอนทั้ง ขั้นตอนดังกล่าวข้างต้น เป็นเสมือนขั้นบันได (stair) ที่ทำให้มนุษย์สามารถประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ รวมทั้งการเขียนหรือพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อแก้ปัญหาก็ต้องใช้กระบวนการตามขั้นตอนทั้ง นี้เช่นกัน                         

อ้างอิงแหล่งที่มา

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การสรุปผลและการเผยแพร่ผลงาน

 

                          การสรุปผลและการเผยแพร่ผลงาน

1. การนำเสนอโครงงาน

          การแสดงผลงานจัดได้ว่าเป็นขั้นตอนสำคัญอีกประการหนึ่งของการทำโครงงานเรียกได้ว่าเป็นงานขั้นตอนสุดท้ายของการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นการแสดงผลิตผลของความคิดและการปฏิบัติการทั้งหมดที่ผู้ทำโครงงานได้ทุ่มเวลาไป และเป็นวิธีการที่จะทำให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจถึงผลงานนั้นๆ มีผู้กล่าวกันว่าการวางแผนออกแบบ เพื่อจัดแสดงผลงานนั้นมีความสำคัญเท่าๆ กับการทำโครงงานนั้นเอง ผลงานที่ทำจะดียอดเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าการจัดแสดงผลงานทำได้ไม่ดีก็เท่ากับไม่ได้แสดงถึงความยอดเยี่ยมของผลงานนั้นเลย

          1. การจัดแสดงและการนำเสนอผลงาน
              การเสนอผลงานอาจทำได้ในหลายรูปแบบต่างๆ กัน เช่น การแสดงผลงานโดยไม่มีการอธิบายประกอบ การรายงานด้วยคำพูดในที่ประชุม การจัดนิทรรศการโดยโปสเตอร์และอธิบายด้วยคำพูด โดยผลงานที่นำมาเสนอหรือจัดแสดงควรประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
              1. ชื่อโครงงาน 
              2. ชื่อผู้จัดทำโครงงาน
              3. ชื่ออาจารย์ที่ปรึกษา
              4. คำอธิบายถึงที่มาและความสำคัญของโครงงาน
              5. วิธีการดำเนินการที่สำคัญ
              6. การสาธิตผลงาน
              7. ผลการสังเกตและข้อสรุปสำคัญที่ได้จากการทำโครงงาน
              ถ้าเป็นการรายงานด้วยคำพูดต่อที่ประชุม ควรมีการเตรียมการในประเด็นต่อไปนี้
              1. จัดลำดับความคิดในการนำเสนออย่างเป็นระบบและนำเสนออย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย
              2. ทำความเข้าใจกับเรื่องที่จะอธิบายให้ดี รวมถึงเตรียมข้อมูลที่อาจต้องใช้ในการตอบคำถาม
              3. หลีกเลี่ยงการนำเสนอด้วยวิธีอ่านรายงาน
              4. ควรมองไปยังผู้ฟังขณะรายงาน
              5. ตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา
              6. รายงานให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
              7. ควรใช้โปรแกรมนำเสนอประกอบการรายงาน
              8. ความเหมาะสมของเนื้อหาต่อผู้ฟัง
              9. ถ้าเป็นโครงงานพัฒนาผลงาน ผลงานนั้นควรจะอยู่ในสภาพที่ทำงานได้เป็นอย่างดี

          2. การจัดนิทรรศการโครงงานควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้
              1. ความปลอดภัยของการจัดแสดง
              2. ความเหมาะสมกับเนื้อที่จัดแสดง
              3. คำอธิบายที่เขียนแสดงควรเน้นประเด็นสำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจเท่านั้น โดยใช้ข้อความกะทัดรัด ชัดเจน และเข้าใจง่าย
              4. ดึงดูดความสนใจผู้เข้าชม โดยใช้รูปแบบการแสดงที่น่าสนใจ ใช้สีที่สดใส เน้นจุดที่สำคัญหรือใช้วัสดุต่างประเภทในการจัดแสดง
              5. ใช้ตาราง และรูปภาพประกอบ โดยจัดวางอย่างเหมาะสม
              6. สิ่งที่แสดงทุกอย่างต้องถูกต้อง ไม่มีการสะกดผิดหรืออธิบายหลักการที่ผิด
              7. ในกรณีที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ สิ่งนั้นควรอยู่ในสภาพที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์

          3. การแสดงผลงานโครงงานด้วยโปสเตอร์
              โปสเตอร์โครงงานที่ดีควรมีลักษณะ ดังนี้
              1. มีข้อมูลที่กระชับและชัดเจน 
              2 .มีหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ
              3. แสดงให้เห็นสิ่งที่ค้นพบหรือสิ่งที่พัฒนา 
              4. แสดงกระบวนการ / วิธีการ ที่พัฒนา 
              5. ใช้ภาษาเข้าใจง่าย 
              6. เรียงเรื่องให้อ่านตามได้เข้าใจ 
              7. ตัวหนังสืออ่านได้ชัดเจน
              8. ทำงานประณีต เรียบร้อย ไม่มีคำผิดเลย 
              9. จัดส่วนประกอบต่าง ๆ ได้เหมาะสม ไม่แน่นเกินไป
             10. นำเสนอได้น่าสนใจ 
             11. มีภาพและงานกราฟิกประกอบ ทำให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น 
             12. ใช้สีสันที่สมดุล 
             13. มีหลักฐานอ้างอิง

          4. การพูดต่อหน้ากลุ่มคน
              แม้นว่าสิ่งที่จะพูด เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงงานรู้แล้วเป็นอย่างดีก็ตาม แต่ในการพูดให้ผู้อื่นฟัง ผู้ทำโครงงานต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเตรียมสาระที่พูดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง มีเป้าหมายในการพูด และพูดในสิ่งที่ผู้ฟังสนใจอยากฟัง การพูดที่ดีต้องมีการเตรียมตัว ดังนี้
              1. ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลที่จะพูด 
              2. วางแผนสิ่งที่จะพูด
              3. เตรียมสื่อที่ใช้ประกอบการพูด 
              4. เขียนโน้ตช่วยจำ 
              5. ฝึกพูดหลายๆ ครั้ง 
              6. เลือกประเด็นสำคัญเพียง 4 - 5 อย่างเท่านั้น เพราะคนเราจำอะไรไม่ได้มากนักจากการฟังคนอื่นพูด 
              7. เตรียมประเด็นข้อมูลที่จะพูดให้ตรงกับผู้ฟัง เช่น ผู้ฟังอาจเป็นกรรมการตัดสินโครงงาน ครูอาจารย์โรงเรียนอื่นๆ เพื่อนผู้เรียน หรือบุคคลทั่วไป เป็นต้น

          5. การวางแผนสิ่งที่จะพูด
              ผู้ทำโครงงานต้องวางแผนการพูด โดยวางโครงร่างของสิ่งที่จะพูด เพื่อให้รู้ล่วงหน้าถึงลำดับของสิ่งที่จะพูด โดยแบ่งส่วนที่จะพูดออกเป็น 3 ส่วน
              ส่วนเริ่มต้น 
              - บอกว่าเป็นใคร...ชื่ออะไร 
              - บอกชื่อโครงงานที่ทำ 
              - กล่าวนำสั้น ๆ ถึงสิ่งที่จะพูด ด้วยวิธีการที่ดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง 
              - โชว์ภาพ ตั้งคำถามผู้ฟัง 
              - แสดงส่วนที่น่าสนใจของโปรแกรมที่พัฒนา 
              ส่วนสาระสำคัญ 
              - แบ่งสาระสำคัญที่จะพูดเป็นประเด็น ๆ 
              - เรียงลำดับประเด็นไว้ 
              - แต่ละประเด็นพูดนำด้วยประโยค 1 ประโยค 
              - พยายามเชื่อมโยงสิ่งที่พูดในแต่ละประเด็นให้ใกล้ตัวผู้ฟัง 
              ส่วนสรุป 
              - บอกประโยชน์ของสิ่งที่ค้นพบ / โปรแกรมที่พัฒนา 
              - เสนอแนวคิดในการพัฒนาหรือต่อยอดโครงงาน 
              - จบลงด้วยสิ่งสรุปที่สร้างความประทับใจผู้ฟังและทำให้ผู้ฟังจดจำไว้ได้

          6. การฝึกพูด 
              - ฝึกพูดก่อนวันพูดจริง 
              - จำประเด็นสำคัญที่จะพูด 
              - ฝึกพูดให้เป็นธรรมชาติ 
              - ฝึกพูดให้ชัดเจน 
              - รู้จังหวะเน้น 
              - ไม่พูดเร็ว

          7. การเตรียมสื่อประกอบ
              ในการนำเสนอด้วยการพูด ผู้ทำโครงงานต้องเตรียมสื่อที่จะช่วยให้ผู้ฟังสนใจฟัง และเข้าใจในสิ่งที่พูดได้โดยง่าย แต่สื่อที่ใช้ไม่ควรสลับซับซ้อน ควรเป็นสื่อง่ายๆ ใช้ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ แสดงกราฟ โมเดล หรือสาธิตประกอบได้ ถ้าโครงงานจำเป็นต้องทำเช่นนั้น ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสถานที่ที่จะนำเสนอด้วย เช่น อุปกรณ์ที่มีให้ แสงในห้อง ขนาดห้อง ฯลฯ

          8. สื่อนำเสนอที่ดี
              -มีตัวหนังสือน้อย 
              -มีเฉพาะประเด็นสำคัญ 
              -ตัวหนังสือมีขนาดโตพอที่ผู้ชมอ่านได้ 
              -ใช้ตัวอักษรสีเข้ม เช่น สีดำ สีน้ำเงินเข้ม
              -ออกแบบการนำเสนอให้เรียบง่าย 
              -ไม่พูดโดยการอ่านจากสิ่งที่เขียน

              การทำโครงงานคอมพิวเตอร์ นอกจากจะเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำความรู้ทางคอมพิวเตอร์มาใช้แก้ปัญหา พัฒนาคิดค้นผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความสนใจที่จะทำงานวิจัยและประกอบอาชีพทางคอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้หลายประเทศทั่วโลกขาดแคลนบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงน่าที่จะจัดให้การทำโครงงานคอมพิวเตอร์เป็นกิจกรรมในทุกระดับชั้น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

2. การประเมินผลโครงงานคอมพิวเตอร์
              เกณฑ์ในการให้คะแนนก็แล้วแต่อาจารย์ผู้สอนจะเห็นสมควร แต่ควรให้ความสำคัญกับการจัดทำเค้าโครงงาน ผลงาน และรายงานในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน เพราะทุกส่วนล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงงานที่ดีและมีคุณภาพ ตัวอย่างการพิจารณาแบ่งคะแนนจากคะแนนเต็ม100 % ได้แก่

 

              การประเมินโครงงานควรเป็นการประเมินตามสภาพจริง เพื่อค้นหาความสามารถและความก้าวหน้าในการเรียนรู้ที่แท้จริงของผู้เรียน ซึ่งกรอบแนวทางการประเมินได้แก่ 
              1. ประเมินอะไร
                 1.1 ผลผลิต / ผลงาน / ชิ้นงาน
                 1.2 กระบวนการเรียนรู้
                 1.3 กระบวนการทำงาน
                 1.4 การแสดงออกถึงความรู้ ความคิด ความสามารถ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม
              2. ประเมินเมื่อใด
                 2.1 การคัดเลือกหัวข้อจนถึงการนำเสนอผลงาน
                 2.2 ตามสภาพจริง
              3. ประเมินจากอะไร
                 3.1 ผลงาน
                 3.2 การทดสอบ
                 3.3 บันทึกต่างๆ
                 3.4 แฟ้มสะสมผลงาน
                 3.5 การตรงต่อเวลาของการส่งงาน
                 3.6 หลักฐานหรือร่องรอยอื่น 
              4. ประเมินโดยใคร
                 4.1 ผู้สอน
                 4.2 ผู้เรียน
                 4.3 เพื่อนร่วมชั้นเรียน
                 4.4 ผู้ปกครอง
                 4.5 ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
              5. ประเมินโดยวิธีใด
                 5.1 ตรวจผลงาน
                 5.2 ตรวจรายงาน
                 5.3 ทดสอบ
                 5.4 นำเสนอผลงาน
                 5.5 นิทรรศการ
                 5.6 สังเกต
                 5.7 สัมภาษณ์
              การปฏิบัติงานเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งต้องจัดให้มีการประเมิน การปฏิบัติงานของผู้เรียนตลอดเวลา ขณะที่ปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนต่างๆ และนำผลเหล่านั้นมาพัฒนา ปรับปรุง การปฏิบัติงานให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยควรให้ผู้เรียนได้มีทำการจดบันทึกตลอดจนใช้แฟ้มสะสมผลงานตลอดเวลาด้วย

              สิ่งที่ควรพิจารณาในการประเมินโครงงานคอมพิวเตอร์ ได้แก่ 
              1. บรรลุตามวัตถุประสงค์ พิจารณาว่าผลงานที่ได้สอดคล้องกับรายละเอียดที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์หรือไม่ มากน้อยอย่างไร 
              2. คู่มือการติดตั้ง และคู่มือการใช้งาน พิจารณาความครบถ้วน ถูกต้องและการใช้งานที่ง่าย 
              3. ความสมบูรณ์ของผลงาน หมายถึงการทำงานที่ถูกต้อง ความสวยงามและความเรียบร้อย 
              4. การนำไปใช้ประโยชน์ ผลงานนั้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในลักษณะใดได้บ้าง มีผลกระทบต่อใคร และอย่างไร 
              5. เทคนิคที่ใช้ในการแก้ปัญหา มีความยากง่ายระดับใด มีการนำมาประยุกต์ใช้ได้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร 
              6. ความคิดสร้างสรรค์/ความแปลกใหม่ อาจพิจารณาเป็นคะแนนพิเศษ เพราะโครงงานบางชิ้นไม่ได้เป็นงานใหม่ แต่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพเท่านั้น ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นโครงงานได้เช่นกัน
              เพื่อการติดตามและประเมินผลงานของผู้ เรียนได้อย่างใกล้ชิด ผู้สอนอาจแนะนำให้ผู้เรียนจัดทำตารางเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้เรียนเองด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนทราบผลการปฏิบัติงานว่าสอดคล้องกับแผนการปฏิบัติงานที่ตั้งไว้ในเค้าโครงร่างหรือไม่ และควรจะปรับปรุงตนเองอย่างไรเพื่อให้ได้ผลงานตรงตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้


ที่มา : https://sites.google.com/a/moeipit.ac.th/wirapons/karna-senx-laea-phey-phaer-khorng-ngan